บทความ
มนต์เสน่ห์วิถีชุมชนบ้านนาหมื่นศรี จ.ตรัง
วันที่ 19 พฤศจิกายน 2562

มนต์เสน่ห์วิถีชุมชนบ้านนาหมื่นศรี จ.ตรัง

การได้มาสัมผัสผ้าทอมือหลากสีสัน เมื่อลองสวมใส่รับรองว่าคุณต้องประทับใจและเก๋ไก๋ไม่เหมือนใครแน่นอน...

ย้อนอดีตในสมัย พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ผ้ายกเป็นที่นิยมในราชสำนักและแวดวงสังคมชั้นสูง จากเอกสารจดหมายเหตุ พระราชกิจรายวัน กล่าวถึงในสมัยที่รัชกาลที่ 6 เสด็จมา จ. ตรัง ว่า “สมุหเทศาภิบาลมณฑลได้ทรงจัดผ้าพรรณทุกอย่างซึ่งเป็นของทำในพื้นบ้าน เช่น ผ้ายก ผ้าราชวัตร ผ้าตาสมุก ผ้าคาด ผ้าเช็ดหน้า ถวายประทานแจกแก่ข้าราชการตามสมควร” และได้ปรากฏหลักฐานจากจดหมายเหตุว่า พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ประพาสหัวเมืองปักษ์ใต้ ร.ศ. 128 ทรงทอดพระเนตรผ้าทอที่เมืองตรัง ข้อความตอนหนึ่งว่า “ใต้ถุนเรือนใช้เป็นที่หัดทอผ้ามีผู้หญิงมาหัดทอมาก” เป็นหลักฐานแสดงว่า เมืองตรังมีผ้าทอมาตั้งแต่อดีตกาล รวมทั้งในชุมชนนาหมื่นศรีด้วย

จากคำบอกเล่าของคนเฒ่าคนแก่แห่งบ้านนาหมื่นศรี ทำให้รู้ว่า การทอผ้าได้ขาดหายไปในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 เพราะขาดเส้นด้ายที่จะใช้ทำวัตถุดิบ รวมทั้งการทอผ้าประจำบ้านที่ใช้วัสดุธรรมชาติปั่นฝ้ายย้อมสีเองก็ลดลง เนื่องจากมีเส้นใยย้อมสีสำเร็จรูปเข้ามาแทนที่ หรือการมีผ้าจากโรงงานและเสื้อผ้าสำเร็จรูปที่สามารถซื้อได้ง่ายกว่าการลงมือทอเอง จนกระทั่งเมื่อราว พ.ศ. 2514 การทอผ้านาหมื่นศรีก็ฟื้นคืนกลับมาอีกครั้ง โดย ยายนาง ช่วยรอด คนดั้งเดิมของหมู่บ้านรวบรวมคนทอผ้าอายุรุ่นเดียวกันได้ 3 คน คือ ยายผอม ขุนทอง, ยายอิน เชยชื่นจิตร และยายเฉิ่ม ชูบัว ช่วยกันซ่อมแซมกี่กับเครื่องมือเก่า ๆ ให้ใช้การได้แล้วลงมือทอผ้าด้วยความตั้งใจว่าจะให้ลูกหลานได้รู้จักผ้าทอและวิธีทอผ้าแบบดั้งเดิม ต่อมา นางกุศล นิลลออ บุตรสาวของ ยายนาง เป็นผู้รับช่วงกิจกรรมงานทอผ้า จากนั้นหน่วยงานราชการได้ให้ความสนใจและเข้ามาส่งเสริม

หลังจากได้ทราบประวัติความเป็นมาพอสังเขป ผมจึงตัดสินใจออกเดินทาง จากเมืองพัทลุงมุ่งหน้าไปยัง จ. ตรัง ทันที ผ่านเขาพับผ้า ในอดีตเคยเป็นเส้นทางที่คดเคี้ยว แต่ปัจจุบันถนนหนทางกว้างขวางไปมาสะดวก ใช้เวลาไม่นานเพียงครึ่งชั่วโมงถึงตลาดสด อ. นาโยง โดยได้นัดหมายกับ คุณจำนง ศรีสาคร ซึ่งเป็นคนในท้องถิ่นไว้ เพื่อเป็นไกด์พาไปยังชุมชนและแหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ จุดหมายแรกที่เราจะไปตั้งอยู่ไม่ไกลจากตัวเมืองตรัง ระหว่างที่ขับรถผ่านคลองชลประทาน บรรยากาศและความสดชื่นในยามเช้าสองข้างถนนเขียวขจีไปด้วยทุ่งหญ้า นาข้าว จนมาถึงร้านกาแฟที่ตั้งโดดเด่นอยู่ริมทุ่งนา บรรยากาศดีมาก มีทั้งนํ้าชา กาแฟ ข้าวต้ม ขนมพื้นบ้านให้ชิม แล้วยังมีผักที่ชาวบ้านปลูกเองมาขายในราคาที่ไม่แพง สบายใจได้ว่าปลอดสารพิษ ส่วนภายในร้าน เมื่อได้เข้าไปรู้สึกอบอุ่น ทุกคนต่างเป็นกันเอง มีมุมให้นั่งห้อยขาจิบกาแฟ ชมวิวทิวทัศน์ที่อยู่ไกลเกือบสุดสายตาอย่างเพลิดเพลิน ทำให้ลืมรสชาติกาแฟสดที่เคยชื่นชอบไปโดยปริยาย

นอกจากนี้ผมยังได้เห็นรอยยิ้มและเสียงหัวเราะของคนที่นี่ บ่งบอกถึงความเป็นมิตร ทำให้รู้สึกประทับใจ จึงออกเดินทางเข้าไปยังหมู่บ้าน OTOP เพื่อการท่องเที่ยว จนมาถึงกลุ่มทอผ้าบ้านนาหมื่นศรี ซึ่งถือว่าเป็นไฮไลท์ของหมู่บ้านที่สืบทอดมาเป็นเวลานานร่วมร้อยปี โดยได้รับการต้อนรับจากคุณป้า คุณน้า และน้อง ๆ พร้อมกับสาธิตการทอผ้าที่เป็นลวดลายของหมู่บ้านให้ชม ส่วนชั้นบนของอาคารเป็นพิพิธภัณฑ์รวบรวมเรื่องราวเกี่ยวกับผ้าทอของหมู่บ้านตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน น้าละเอียด ซึ่งเป็นหนึ่งในสมาชิกกลุ่มทอผ้าได้เล่าให้ฟังว่า...

“เริ่มฝึกหัดทอผ้าจากคุณแม่ตั้งแต่ตอนวัยเด็ก ส่วนมากจะทำกันภายในครอบครัว ซึ่งในตอนนั้นเป็นการทอกี่พื้นเมือง ต่อมาเมื่อมีความชำนาญจึงหันมาทอกี่กระตุก จนกระทั่งได้เปิดเป็นกลุ่มทอผ้าขึ้นเมื่อปี 2543 จึงย้ายมาทออยู่ที่นี่ ตอนนี้จะทอเป็นผ้าพันคอซะเป็นส่วนใหญ่ ส่วนลวดลายจะเป็นลายเดือนเต็มดวง แต่สำหรับลวดลายแบบดั้งเดิมของบ้านนาหมื่นศรีมีทั้งหมด 32 ลาย ภายหลังได้ทอแตกลายออกไปอีก จนเดี๋ยวนี้มีอยู่ร้อยกว่าลาย” คุณน้าละเอียดได้เล่าให้ฟังมาพอสมควร ทำให้อยากสัมผัสผ้าทอของบ้านนาหมื่นศรีที่เขารํ่าลือกันว่าสวยไม่ด้อยไปกว่าที่อื่น ๆ

“อือ...สวยดั่งคำรํ่าลือ สีสันสดใส มีความประณีต แต่ละชิ้นลวดลายแตกต่างกัน มีให้เลือกหลายรูปแบบทั้งผ้าพันคอ ผ้าคลุมไหล่ ชุดสำหรับออกงาน ฯลฯ ล้วนแต่ทอจากฝีมือล้วน ๆ น่าสวมใส่และเหมาะสำหรับเป็นของฝากได้อีกด้วย”

หลังจากที่ได้ชมผ้าทอของบ้านนาหมื่นศรีเป็นที่เสร็จสรรพ สมาชิกกลุ่มทอผ้าได้เตรียมอาหารมื้อกลางวันไว้เผื่อเราด้วยและได้รับประทานร่วมกัน มีทั้งแกงคั่วหมูกับสับปะรด แกงเผ็ดซี่โครงหมู ผัดผักกูด ปลาทูทอด รสชาติอร่อย ถือว่าเป็นอีกวันหนึ่งที่ผมรู้สึกประทับใจ

เมื่ออิ่มอร่อยกับรสชาติอาหารปักษ์ใต้ เรายังมีภารกิจที่จะต้องเดินทางต่อไปยังกลุ่มวิสาหกิจชุมชนและแหล่งเรียนรู้ต่าง ๆ เช่น การแปรรูปผลิตภัณฑ์ลูกหยี กลุ่มข้าวซ้อมมือ และกลุ่มการทำเกษตรแบบพอเพียง ด้วยเวลาที่ค่อนข้างมีจำกัดเราตัดสินใจเลือกไปยังแหล่งเรียนรู้ด้านเกษตรของ คุณทวี หลังจากที่ได้แนะนำตัวกันเป็นที่เรียบร้อย พี่ทวีได้พาไปชมแปลงพืชผักต่าง ๆ เช่น มะนาว มะม่วงหิมพานต์ มะละกอ ฯลฯ พร้อมกับเล่าให้ฟังว่า...

“ได้เริ่มทำเกษตรมาได้ไม่นาน โดยยึดปรัชญาการการทำเกษตรแบบพอเพียงจากในหลวง รัชกาลที่ 9 พร้อมกับศึกษาเรียนรู้ พัฒนาเพิ่มเติมก่อนลงมือทำทุกครั้ง ตลอดจนทำปุ๋ยหมักใช้เอง ทำให้พืชผักออกผลผลิตได้ตามที่ต้องการ และยังแบ่งปันประสบการณ์ให้กับกลุ่มเกษตรกรในชุมชนอีกด้วย”

เพียงแค่ได้มาสัมผัสแหล่งเรียนรู้ด้านการเกษตรของพี่ทวี ทำให้อยากนำไปลองปฏิบัติ อย่างน้อยได้ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ ได้กินสิ่งที่ปลูกและเหลือจากกินยังแบ่งปันให้เพื่อนบ้านหรือขาย ถือว่าเป็นการทำเกษตรแบบยั่งยืนหรือพึ่งพาตนเอง

นอกจากวิสาหกิจชุมชนที่ได้กล่าวถึงในเบื้องต้น หมู่บ้านนี้ยังมีแหล่งท่องเที่ยว ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากชุมชน คือ ถํ้าช้างหาย มีตำนานอันน่าสนใจ หลังจากเข้าไปภายในถํ้าแทบไม่น่าเชื่อว่าใหญ่โต มีหินงอกหินย้อยรูปทรงแปลกตา โดยแต่ละห้องแต่ละโซนจะมีความงามที่แตกต่างกัน ต้องมาสัมผัสด้วยตนเองถึงจะรู้ว่าถํ้าแห่งนี้สวยจริง ๆ

บ้านนาหมื่นศรีใช่ว่าจะมีชื่อเสียงในด้านผ้าทอพื้นเมืองของ จ.ตรัง เพียงอย่างเดียว ยังเป็นหมู่บ้านพัฒนาที่ควรเอาเป็นตัวอย่าง ผู้คนในชุมชนมีความรักสามัคคี มีรอยยิ้มให้กับผู้มาเยือนเป็นมนต์เสน่ห์ที่น่าจดจำ หากใครมีโอกาสมาเที่ยวเมื่อตรัง ควรหาโอกาสไปทำความรู้จัก แล้วจะเข้าใจว่า ท่องเที่ยววิถีไทย เก๋ไก่สไตล์ลึกซึ้ง คือ ประสบการณ์ดี ๆ ที่ไม่ควรพลาด

 

ขอขอบคุณ

ที่มา : neekrung | หนีกรุง ไปปรุงฝัน

Upload Form